วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2555

ธรรมาสน์สังเค็ด วัดใหม่(เสนานุชรังสรรค์)


วัดใหม่ หรือวัดเสนานุชรังสรรค์ เป็นหนึ่งในวัด ที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนตลาดเก่า ประกอบด้วย วัดคงคาภิมุข วัดหน้าเมือง วัดพระธาตุคีรีเขต วัดควนถ้ำ และวัดเสนานุชรังสรรค์ รวมห้าวัด จากประวัติในการก่อตั้งวัดเหล่านั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่า คำเรียก “วัดใหม่” คงหมายถึงวัดที่ก่อตั้งขึ้นใหม่กว่าวัดคงคาภิมุข(ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2305) และวัดหน้าเมือง(ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2320) โดยวัดใหม่หรือวัดเสนนานุชรังสรรค์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2390  นั่นเอง
วัดใหม่ ถือว่าเป็นวัดหลวง เป็นวัดที่เคยใช้ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และมี “ธรรมาสน์ จปร.” ที่น่าสนใจทั้งในด้านที่มา และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ในพระอุโบสถอีกด้วย

ธรรมาสน์ของ วัดใหม่ เป็นธรรมาสน์ไม้ลงรักปิดทอง ส่วนขาจำหลักเป็นรูปเท้าสิงห์เหยียบลูกแก้ว สันขาลายกระจัง แข้งสิงห์และนมสิงห์ปิดทองเป็นลายก้านขด คาดด้วยแนวเส้นรูปสามเหลี่ยม ประดับแถวด้วยลายกระจัง และลายเม็ดประคำ(ลายเนื่อง)อยู่ภายใน ทำลายกระหนกใบ(ลายก้านขด) สอดไส้ลายรูปสามเหลี่ยม ขอบนอกประดับลายกระหนกสามแถว ส่วนพนักพิงตกแต่งเป็นลายประจำยามและลายก้านขด กรอบลายประแจจีน กระจังขนาดใหญ่ด้านหลังของธรรมาสน์ส่วนกึ่งกลางจำหลักตราดาราภายในเป็นพระ ปรมาภิไธยย่อ จปร. อยู่ใต้พระเกี้ยวอันเป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว พระเกี้ยวเป็นเป็นลายนูนต่ำท่ามกลางลายกระหนกปิดทอง ด้านล่างมีจารึกสองแถวความว่า “ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ.๒๔๕๓”

เมื่อ ได้สืบค้นข้อมูลจึงได้ทราบว่า ธรรมาสน์หลังนี้ เป็น “ธรรมาสน์สังเค็ด เนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๕๓” จึงขยายความได้ว่า

ธรรมาสน์คือที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม ในการประกอบศาสนกิจพิธีโดยเฉพาะการแสดงพระธรรมเทศนาต่อพุทธศาสนิกชน

“สังเค็ด” มาจากคำว่า “สังคีต” หมายถึงการสวด เตียงพระสวด หรือร้านสวดในงานมงคลหรือในการศพก็เรียกว่าสังเค็ด การถวยเครื่องสังเค็ดในการศพ ด้วยประเพณีไทยแต่ก่อนเมื่อมีผู้ตายมักจะนำเครื่องใช้สอยของผู้ตายไปทำทาน แก่ผู้ยากไร้ หรือสิ่งใดที่จะนำไปทำบุญได้มักจะนำไปถวายวัด ซึ่งต่อมาในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพและพระบรมศพได้จัดทำขึ้นเป็น เครื่องสังเค็ดหลวง โดยจะจัดสร้างขึ้นอย่างดีและพิเศษกว่าทั่วๆไป

ธรรมาสน์ สังเค็ดหลังนี้ เป็นธรรมาสน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอุทิศพระราชทานใน งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๕๓ ได้แบบอย่างจากสัปคับพระคชาธาร เป็นธรรมาสน์ที่ไม่มีแบบอย่างมาแต่ก่อน เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปรากฎเป็นพระเกียรติยศสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรัสชมความ คิดสร้างธรรมาสน์สังเค็ดไว้ในสาส์นสมเด็จว่า “เมื่อพูดถึงสัปคับพระคชาธาร ทำให้นึกถึงธรรมาสน์ ซึ่งฝ่าพระบาททรงพระดำริให้ ทำขึ้น เมื่อครั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เห็นว่าธรรมาสน์นั้นเหมาะดีที่สุดยิ่งกว่าธรรมาสน์ใดๆ ซึ่งเคยมีมาก่อน ขอถวายอนุโมทนาในพระปัญญา บารมีด้วยความพอใจเป็นอย่างยิ่ง” ทั้งนี้คงเป็นเพราะความคิดในการสร้าง ได้รูปทรงจากพระที่นั่ง พูดตามสัปคับช้างทรงอันเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเฉพาะสมเด็จพระเจ้าแผ่น ดิน จึงเป็นของควรแก่พระเกียรติยศ ประกอบ กับมีรูปทรงงดงาม มีขนาดเหมาะแก่การนำไปประดิษฐานในอาคารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และใช้พระราชทรัพย์ในการสร้าง แต่พอสมควร

การจัดสร้างธรรมาสน์ สังเค็ดในครานั้น มีการจัดสร้างเป็น ๔ แบบ มีขนาดและรูปทรงเป็นอย่างเดียวกันหมด ทั้งสี่แบบจะต่างกันที่การตกแต่งด้วยเทคนิคและลวดลายต่างๆกัน ทั้งนี้เพื่อพระราชทานไปยังพระอารามหลวงทั่วประเทศตามลำดับพระสมณศักดิ์ของ เจ้าอธิการหรือถวายวัดราษฎร์ซึ่งโปรดพระราชทานให้เป็นกรณีพิเศษ แบ่งเป็น
๑. ธรรมาสน์ลายสลักปิดทองร่องกระจก นับเป็นแบบพิเศษใช้ในการพระราชพิธีเกี่ยวข้องกับการพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาทภายในพระบรมมหาราชวังหลังหนึ่ง นอกจากนี้พบพระราชทานยังพระอารามหลวงหลายแห่ง
๒. ธรรมาสน์ลาดสลักปิดทองทึบ จัดเป็นธรรมาสน์ชั้นที่สองพบหลักฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
๓. ธรรมาสน์ลายสลักปิดทองล่องชาด จัดเป็น ธรรมาสน์ชั้นที่สาม ปัจจุบันพบหลักฐานเก็บรักษาไว้ตามพระอารามหลวง ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลายแห่ง
๔. ธรรมาสน์ปิดทองลายฉลุ ธรรมาสน์ปิดทองลายฉลุ ทำลวดลายอย่างง่าย มีความประณีตน้อยกว่าธรรมาสน์ทั้ง ๓ แบบเบี้ยงต้น จึงจัดเป็นธรรมาสน์ชั้น ที่สี่ปัจจุบันพบหลักฐานเก็บรักษาไว้ตามวัดในหัวเมืองหลายแห่ง

ซึ่ง ธรรมาสน์ของวัดใหม่เป็นธรรมาสน์ชั้นที่สี่นั่นเอง นอกจากนี้จากการสอบถามจากบุคคลในวัดได้กล่าวว่า “นอกจากธรรมาสน์แล้วยังมีตู้พระธรรมและหีบเก็บพระธรรมลงรักปิดทองที่ได้มา คราวเดียวกันด้วย”ซึ่งต้องรอผู้สนใจศึกษาค้นคว้าต่อไป

http://www.archae.go.th/Article/Ceremonial5.asp
http://cd.m-culture.go.th/pungha/index.php?p=5&c=list&menu=76

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น