วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2555

ตำนาน "คะน้า"


คนจีนเข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินสยามมานานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวจีนนำเข้ามาคือพืชพรรณธัญญาหารเข้ามาหลายอย่าง อันเป็นที่มาของวัฒนธรรมการกิน ที่แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อ และเรื่องราวต่างๆมากมาย

ชาวจีนที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่เดินทางมาจากมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) และมณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ได้นำเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นของตนเข้ามาปลูกในแผ่นดินสยาม ล้วนเจริญเติบโตได้ดี ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่ใคร่แตกต่างกันมากนัก อาทิ ผักขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง กุยช่าย คะน้า เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่การเรียกชื่อผักนั่น จะใช้เป็นคำทับศัพท์ตามภาษาจีน อาทิ
ขึ้นฉ่าย มาจาก芹菜(qín cài) หรือ
กุยช่าย มาจาก 韭菜(jiǔ cài) เป็นต้น

ในที่นี้ขอเล่าเรื่องผักยอดนิยมในปัจจุบันคือ คะน้าหรือคาน้า 
มีที่มาจากคำว่า “芥蘭菜”《芥兰菜gài lán cài》
บ้างว่า “芥藍菜”《gài lán cài》
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chinese broccoli หรือ Chinese kale 
 ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica alboglabra Bailey

คะน้าในตำนาน
คะน้าในที่นี้จะเรียกว่า “芥篮菜” 《gài lán cài》โดยมีที่มาจากเรื่องกำเนิดเจ้าแม่กวนอิมภาคนิรมาณกาย(กายเนื้อ) ซึ่งนักปราชญ์ท่านได้รจนาขึ้นเมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ (หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๙) ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด คงเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือตำนาน โดยเนื้อหาได้กล่าวถึงเจ้าแม่กวนอิมเมื่อครั้งยังเป็นองค์พระธิดาเมี่ยวซาน《妙善公主》 ธิดาองค์เล็กในพระเจ้าเมี่ยวจวงและพระมเหสีเป๋าเต๋อ แห่งราชอาณาจักรซิงหลิง

ในสมัยนั้นเป็นช่วงที่มีการสงครามเกิดขึ้นทั่วไป พระเจ้าเมี่ยวจวงเองมักก่อสงครามเพื่อขยายอาณาจักร ทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต่างได้รับความเดือดร้อน ส่วนพระธิดาเมี่ยวซ่านนั้นมีเป็นองค์หญิงที่มีพระสิริโฉมงดงาม มีน้ำพระทัยที่เมตตากรุณาต่อมวลสรรพสัตย์อย่างหาที่สุดมิได้

เป็นธรรมดาบิดามารดาเมื่อธิดาเจริญวัยขึ้นบิดามารดาจะต้องเลือกคู่ครองให้ เช่นเดียวกับพระเจ้าเมี่ยวจวงเองก็มีความประสงค์ที่จะให้พระธิดาเมี่ยวซ่านมีคู่ครองเช่นกัน

แต่กระนั้นพระธิดาองค์น้อยหาได้มีใจที่จะฝักใฝ่ในทางโลกไม่ พระธิดาทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเนกขัมบารมี ออกบวชเป็นภิกษุณี บำเพ็ญพรตภาวนาเพื่อบรรลุสู่โพธิสัตว์ภูมิ ด้วยความประสงค์ของพระธิดาเมี่ยวซ่านเป็นเช่นนี้จึงขัดพระทัยพระเจ้าเมี่ยวจวงเป็นอย่างยิ่ง แต่พระองค์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยพระธิดาได้ไม่ จำต้องหาอุบายเพื่อให้พระธิดาเปลี่ยนพระทัย โดยทรงยอมให้พระธิดาออกบวชได้ แต่ต้องทำงานหนักทุกขนิดด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อพระธิดาผู้อยู่ในรั้วในวังเมื่อเจอความยากลำบากจะได้เปลี่ยนพระทัยนั่นเอง

เมื่อพระธิดาได้ออกบวชเป็นภิกษุณีเป็น เมี่ยวซ่านไต้ซือ เมี่ยวซ่านไต้ซือก็ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ในบวรพระศาสนา ต้องตรากตรำทำงานหนักตามบัญชาของพระบิดา แต่ด้วยบารมีทานในปางก่อนจึงมีเทพยดามาอารักษ์ให้แคล้วคราดปลอดภัย และได้ช่วยเหลือในกิจการต่างๆ ทำให้เมี่ยวซ่านไต้ซือได้บำเพ็ญภาวนายิ่งขึ้น

กาลล่วงเลยมา เมี่ยวซ่านไต้ซือไม่มีทีท่าที่จะเสด็จนิวัติพระราชวัง เหล่าราษฎรต่างพากันเลื่อมในการบำเพ็ญภาวนากันมากขึ้น พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงเห็นเช่นนั้น เกรงว่าทิ้งไว้นานไปคงมีราษฎรออกบวชเสียสิ้น พระองค์จึงมีพระบัญชาให้ทำลายอารามที่เมี่ยวซ่านไต้ซือจำวัดอยู่เสีย พร้อมทั้งรับสั่งให้ราษฎรงดปรุง หรือจำหน่ายจ่ายแจกอาหารเจ ผู้ใดขัดขืนต้องโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อต้องการบีบให้เมี่ยวซ่านไต้ซือทรงลาสิกขาออกมา

แม้กระทั้งการปรุงอาหารเจเพื่อรับประทานยังเป็นเรื่องต้องโทษตามที่พระเจ้าเมี่ยวจวงได้ตั้งกฎไว้ เหล่าราษฎรที่เห็นในพระจริยวัตรและการบำเพ็ญภาวนาของเมี่ยวซ่านไต้ซือจึงเพิ่มความเลื่อมใสและศรัทธามากขึ้น ชาวบ้านต่างหาวิธีการเพื่อให้เมี่ยวซ่านไต้ซือได้ฉันอาหารเจโดยไม่ต้องโทษ วิธีหนึ่งชาวบ้านได้นำกระดูกสัตว์มาต้มในหม้อไว้ และนำผักมาทำความสะอาดเพื่อลงไปลวกในน้ำต้มกระดูก แต่ในหม้อต้มได้นำตะกร้ามากั้นไว้เพื่อแยกส่วนที่ติดกระดูกสัตว์ออกไป เมื่อลวกผักแล้วจะไม่ติดกระดูกสัตว์ นำไปถวายแด่เมี่ยวซ่านไต้ซือ

ผักที่นำไปลวกโดยมีตะกร้ากั้นไว้เรียกว่า แก๋ะหน่าไฉ ตจ. หรือ เจี้ยหลานไฉ่ จก.Jìe lán cài ต่อมาได้เพี้ยนสำเนียงไปเป็น “คะหน่าไฉ่” หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “ผักคะน้า”
นั้นต่อมาเรียกว่า “芥篮菜” 《gài lán cài (แก๋ะหน่าไฉ ตจ.)》หรือผักที่ถูกกั้นอยู่ในตะกร้านั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. อีกหนึ่งความหมายจาก "คะน้า"
    http://hakkapeople.com/node/2680
    ในที่นี้เป็นการออกเสียงแบบฮากกา(hakka
    )
    กับหลำช่อย ขัดหนาช่อย กะนั้มไฉ่ (菜) หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “ผักคะน้า” โดยคำว่า “กะ” จะหมายถึง ยอดเยี่ยม, ล้ำเลิศ, เกราะป้องกัน ส่วนคำว่า “นั้ม” จะหมายถึงสีน้ำเงินหรือสีคราม
    ซึ่งสีนี้ชาวจีนถือกันว่าเป็นสีแห่งท้องฟ้าหรือสวรรค์
    และในพระพุทธศาสนานิกายมหายานถือว่าเป็นสีรัศมีแห่งธรรมะ

    甲藍หมายถึงที่หนึ่งในตะกร้า คำว่า“ กับ””กะ”( 甲 )เมื่อไปผสมกับ คำว่าประเทศ หรือ โลก ก็แปลว่ายอดเยี่ยม เป็นที่หนึ่งในโลกจึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมต้องเป็นผักตัวนี้

    ดังนั้นกะนั้มไฉ่
    จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า
    ชีวิตคนเรานั้นเกิดมาก็มีแต่ตัวอย่างเดียวมาแต่กำเนิด
    ตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ที่สุดแล้วก็จะมีแต่ความดีงามที่ติดตัวไปได้เท่านั้น
    พึงหมั่นเร่งสร้างบุญสร้างกุศลและปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้น
    ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วก็จะถือว่าเป็นยอดแห่งคนและธรรมนั้นจะเป็นเกราะคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติธรรมเสมอ

    ตอบลบ