วันศุกร์, กันยายน 21, 2555

บาบ๋า "เครื่องถนิมพิมพาภรณ์"



เครื่องประดับ เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ รสนิยมของผู้ที่สวมใส่ และยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจในยุคนั้นๆอีกด้วย เช่นเดียวกับเครื่องประดับของชาวบาบ๋า ที่มีความงามทั้งแง่ศิลปะ ความประณีตที่ทำให้เห็นถึงฝีมือทางเชิงช่าง อีกทั้งวัสดุที่นำมาใช้ล้วนเป็นทองคำ เงิน นาก มาประดับด้วยอัญมณีมีค่าต่างๆ อันสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของคนในยุคนั้น
เครื่องประดับของคนบาบ๋าที่ใช้สวมใส่มีมากมายหลากหลาย ทั้งที่เป็นเครื่องประดับสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แหวน ปิ่นปักผม เข็มขัด  เป็นต้น และเครื่องประดับที่ใช้ในวาระโอกาสสำคัญๆต่างๆที่มักมีความวิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้นตัวอย่างที่เห็นจากภาพต่อไปนี้ เป็นภาพส่วนหนึ่งของขบวนแห่สินสอดทองหมั้น ที่บาบ๋าปีนังจัดแสดงในงาน 24 th BABA-NYONYA CONVENTION 2011, PENANG(25-27 NOV 2011) เครื่องประดับที่นำมาเป็นสินสอดประกอบด้วย 

๑. “หมั้ยตีน” หรือกำไลข้อเท้า มีลักษณะเป็นวงกลม มีส่วนเว้าระหว่างรอยต่อเพื่อความสะดวกในการสวมใส่ หรือทำเป็นวงกลมที่มีสกรูเพื่อช่วยขยายขอบกำไล บ้างใส่กระพรวนไว้เมื่อเดินจะเกิดเสียงดัง หมั้ยตีนนิยมใส่กับชุดครุยยาวเนื่องในโอกาสพิเศษหรือพิธีการที่สำคัญ

๒.“เข็มเหน็บมวย” หรือปิ่นปักผม สตรีบาบ๋าในอดีตมักไว้ผมยาว จึงนิยมเกล้าผมเป็นมวย มีการเกล้ามวยผมเป็นสองแบบ แบบแรกเป็นการรวบผมตึงเกล้ามวยประมาณท้ายทอยเป็นการเกล้ามวยแบบมวยต่ำ ใช้เข็มเหน็บมวยเพียงอันเดียวหรือสองอัน
แบบต่อมา เป็นการเกล้ามวยสูงหรือที่เรียกว่า “ชักอีโบย” แบบนี้จะใช้เมื่อสวมชุดครุย รอบมวยผมจะตกแต่งด้วยพวงมาลัยดอกไม้ ใช้เข็มเหน็บมวย ๓, ๕ หรือ 7 อัน หรือการเกล้ามวยสูงสำหรับชุดแต่งงานส่วนมวยผมจะประดับด้วยฮั๋วก๋วน ติดดอกไม้ไหว ปักด้วยเข็มเหน็บมวยรอบด้าน  เข็มเหน็บมวยหรือปิ่นปักผมจึงมีความสำคัญยิ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน 

๓. “โกรสัง เข็มกลัดติดเสื้อ ด้วยเสื้อของชาวบาบ๋าไม่นิยมติดกระดุมแต่จะใช้เข็มกลัดแทน เข็มกลัดหรือโกรสังเป็นเครื่องประดับสามชิ้น มีตัวใหญ่อยู่ด้านบน นิยมเรียก “ตัวแม่(mother piece, kerongsang ibu)” ด้านล่างเรียกว่า “ตัวลูก(child piece, kerongsang anak)” หรือที่เรียกว่า “a set of mother and child
การออกแบบโกรสังที่ใช้กลัดแทนกระดุม สำหรับชุดเสิ้อครุย มักมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจเป็นตัวแม่ ส่วนตัวลูกจะทำเป็นวงกลมมีขนาดย่อมกว่าตัวแม่ มีการตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ 
โกรสังอีกแบบหนึ่งจะเป็นชุดเข็มกลัด ๓ ชิ้นมีโซ่เล็กๆเกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดๆ โกรสังส่วนใหญ่มักทำจากทองคำ เงิน นาก ประดับด้วยเพชรซีก หรือเพชรลูก 

๔. “อ่องโบ้ ” ต่างหู (ตุ้มหู)

 ๕.“หลั่นเต่ป๋าย” เป็นสร้อยคอ ที่นิยมทำเป็นแผงรูปวงรี ให้โค้งตามลำคอ นิยมทำด้วยทองคำ ประดับเพชร หรืออัญมณีอื่นๆ

๖.ปิ่นตั้งเป็นจี้สำหรับห้อยคอ หรือใช้กลัดติดเสื้อ มักออกแบบเป็นลายดอกไม้ กลีบหรือเกสรประดับเพชร อีกแบบหนึ่ง ออกแบบรูปทรงเป็นทรงนูนคล้ายหลังเต่าประดับด้วยเพชรหรืออัญมณีอื่นๆ ทำเป็นลายดวงอาทิตย์ ลายดอกไม้ ฯ

๗. “กำไลข้อมือ” นิยมทำจากทอง เงิน หรือนาก ประดับเพชรหรืออัญมณีมีค่าอื่นๆ ออกแบบลวดลายเป็นนก ดอกไม้ หรือลายเครือเถา

กิมตู้น จี้ห้อยคอ มักนำเหรียญทอง (เหรียญที่ชาวอังกฤษนำเข้ามาใช้ในยุคล่าอาณานิคม) ส่วนใหญ่เป็นเหรียญสมัยปลายคริสตวรรษที่๑๘ ถึงต้นคริสตวรรษที่ ๑๙  ที่นิยมนำมาตกแต่งล้อมรอบเหรียญ เป็นลายเครือเถา ลายสัตว์ต่างๆ ส่วนเหรียญที่รุ่นก่อนปลายคริสตวรรณที่ ๑๘ นั้น นิยมเก็บเป็นของสะสมไว้ให้เป็นสมบัติแก่บุตรหลานจะเรียกว่า “เหรียญแหม่มทูนหัว แบบหนึ่ง
อีกแบบมีขนาดเล็กกว่าแบบแรกใช้ทองคำ เงิน หรือนาก มาทำเป็นกระดุม โดยมีห่วงเล็กๆอยู่ด้านหลัง แบบนี้ใช้สำหรับติดเสื้อคอตั้งแขนจีบ การใช้เหรียญทองคำซึ่งในสมัยนั้นนับเป็นของมีค่าที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้มาทำเป็นเครื่องประดับนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของผู้ที่สวมใส่ได้เป็นอย่างดี


 "อ่องโบ้" หรือต่างหู (หรือที่ชาวตะกั่วป่าเรียกว่า ตุ้มหู) มีหลากหลายลักษณะ คือ
๑."ตุ้มหูหางหงส์" เป็นตุ้มหูติดแนบกับใบหู ๒."ตุ้มหูดอกพิกุล" เป็นตุุ้มหูแบบติดแนบกับใบหูอีกแบบหนึ่ง ออกแบบเป็นลายดอกพิกุล  ๓."ตุ้งติ้ง"เป็นตุ้มหูที่ห้อยระย้า


“แหวน” "อ่องโบ้" หรือต่างหู (หรือที่ชาวตะกั่วป่าเรียกว่า ตุ้มหู) มีหลากหลายลักษณะ คือ เครื่องประดับที่สวมใส่ติดตัวในชีวิตประจำวัน สำหรับคนบาบ๋านิยมทำแหวนเป็นลายดอกไม้ เรียกว่า “แหวนหัวดอกพิกุล” ใช้เพชรลูกเป็นหัวแหวน รายรอบด้วยเพชรซีก บ้างทำหัวแหวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เรียกว่า “แหวนบาแยะ”
เครื่องประดับของบาบ๋า ยังมีการออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย เช่น ต่างหูแบบแนบกับใบหู สามารถนำมาต่อได้เป็นต่างหูแบบระย้า หรือจะนำมาทำเป็นหัวแหวนได้อีกด้วย

ทั้งนี้บทความนี้เป็นเพียงการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น จำต้องขอความคิดเห็นอันเป็นสาระจากท่านทั้งหลาย เพื่อให้มีความสมบูรณ์และสามารถใช้อ้างอิงได้ต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น